top of page

ประวัติหมู่บ้าน ตำบลดอยงาม

Village History , Tambon Doi Ngam

หมู่ที่ 1 บ้านสันทราย

Moo.1 , Ban San Sai 

บริบทชุมชน

บ้านสันทราย จัดเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร จุดเด่นของบ้านสันทรายคืองานฝีมือด้านการแกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักภายในวัด เช่น ประตูวัด หน้าต่างวัด ภายในวิหาร และโบสถ์ เป็นต้น โดยมี นายจำลอง แสงจันทร์ เป็นปราชญ์ชุมชน และเป็นตัวแทนของหอศิลป์ อีกทั้งนายจำลอง แสงจันทร์ ยังเป็นตัวแทนหลักในการแกะสลักตุง เพื่อแข่งขันในงานกาชาติของจังหวัดเชียงราย

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งกลุ่มทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักล้าง และเย็บผ้าเช็ดเท้า ซึ่งแต่ละกลุ่มจัดอยู่ในสินค้าโอทอป

ปราชญ์ชุมชน

พ่อจำลอง แสงจันทร์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการแกะสลักไม้)

พ่อจำลอง แสงจันทร์ ได้รับความรู้ด้านงานไม้มาจากพ่อ

ซึ่งเคยทำอาชีพเป็นช่างไม้ รับทำโต๊ะ ตู้ เตียงนอน และของใช้ต่าง ๆ ภายหลังพ่อจำลองได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากเพื่อน

ที่อยู่ต่างจังหวัด ก่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านสันทราย อำเภอพาน เนื่องจากพ่อจำลองมีความสามารถในการทำงานไม้อยู่แล้ว

จึงสามารถแกะสลักไม้เป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ แล้วได้พัฒนาทักษะ

ในด้านงานไม้ และงานแกะสลักอย่างต่อเนื่อง ต่อมามีการว่าจ้างพ่อจำลองให้แกะสลักงานต่าง ๆ มากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานแกะสลักทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา ผลงานแกะสลักของพ่อจำลอง เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้มีการนำไปแสดงในสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนได้แข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศงานประกวดระดับจังหวัดในหลาย ๆ รายการ

Moo.1

ของดีประจำหมู่บ้านสันทราย

หมอชาวบ้าน (หมอเมือง) เป่า,เช็ด มะเร็งผิวหนัง (งูสวัด)

การรักษาโดยการเป่าหรือการเช็ดนี้  ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาให้หายจากพิษต่างๆได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปหาหมอแผนปัจจุบัน

นายผา  ธรรมต๋า ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลาเกือบ 80 ปี ได้รับสืบทอดมาจากคุณพ่อในสมัย ยังเป็นวัยรุ่น มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษมาขอรับการรักษาได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายเป็นปกติ ผู้เป็นพ่อจึงได้ให้สืบทอดเพื่อเป็นการอนุรักษ์วิชาสืบต่อไป อุปกรณ์การรักษาประกอบไปด้วย คาถาที่สืบทอดมาจากอาจารย์ ปู่ย่าตายาย น้ำมันขมิ้นส้มป่อย ใบขนุน 7 ใบ ขันน้ำ

หมู่ที่ 2 บ้านจำคาวตอง

Moo.2 , Ban Cham Khao Thong

บริบทชุมชน

ผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านจำคาวตอง มีภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดลำพูน และได้ย้ายมายังหมู่บ้านจำคาวตอง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2464

มีประชากร 470 คน ปัจจุบันมีทั้งหมด 125 ครัวเรือน บ้านจำคาวตองเป็นหมู่บ้านที่แบ่งออกเป็นส่วน เนื่องจากบ้านแต่ละหลังไม่ได้อยู่ห่างกันประมาณ 150-200 เมตร

บ้านจำคาวตอง ได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมโดยกลุ่มพัฒนาชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2559 ถึงปัจจุบัน

ในหมู่บ้านจะมีการส่งเสริมการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือน โดยใช้เทคนิค 3 ก้าว เข้ามาช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ก้าวแรกคือ ผู้นำทำก่อน ก้าวที่สองก็คือผู้นำและครัวเรือนห้าครัวเรือนต่อผู้นำ 1 คน ก้าวที่สามคือการประกวดคุ้ม

 

Moo.2

ปราชญ์ชุมชน

นายสุพล สุยะศักดิ์ (เจ้าของบ้านตัวอย่างโครงการโคกหนองนาโมเดล)

นายสุพล สุยะศักดิ์ เริ่มโครงการโคกหนองนาโมเดลได้ประมาณช่วง พ.ศ.2561 โดยเริ่มต้นจากการทำเกษตรพอเพียง ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลา ต่อมาในปี พ.ศ.2562 นายสุพล สุยะศักดิ์ ได้เข้าร่วมอบรมที่ศูนย์พัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโคกหนองนาโมเดล และได้มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการทำฝายกั้นน้ำ และคลองไส้ไก่ เริ่มมีการปลูกกะหล่ำปลี ปลูกผัก ปลูกถั่ว ปลูกมะเขือ ในพื้นที่ และได้พัฒนาขึ้น จากเดิมเคยปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต่อมาก็ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกไม้ผล 5 ระดับ ซึ่งให้ประโยชน์ เช่น กันลม กันแดด และให้ผลผลิตที่หลากหลาย ได้กินผลไม้หลายแบบ และได้เริ่มทำอนุบาลปลาช่อน บ่อเลี้ยงปู เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยผลผลิตมีทั้งนำไปขาย และแจกจ่ายให้ชาวบ้านใกล้เคียง

วัดจำคาวตอง

เจ้าอธิการกิตติศักดิ์ กันตะธรรมโม (เจ้าอาวาสวัดจำคาวตอง) พื้นที่วัดจำคาวตองเป็นที่ราบลุ่มและมีน้ำผุดออกจากใต้ดิน หรือน้ำจำออกจากใต้ดิน และบริเวณตรงนี้จะมีผักคาวตอง หรือผักพลูคาวเป็นจำนวนมาก จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านจำคาวตอง

ในสมัยก่อนมีชาวบ้านเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ให้เป็นสถานที่ก่อตั้งวัดจำคาวตอง ซึ่งได้ใช้ชื่อตามหมู่บ้าน วัดจำคาวตองก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2470 มีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระพุทธรูปไม้ขนุน และอุโบสถซึ่งเดิมอาคารเป็นครึ่งไม้ครึ่งปูน โดยมีเสาเป็นไม้ ผนังเป็นปูน ประมาณปี พ.ศ.2530 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ บูรณะเสร็จในปี พ.ศ.2540 ในปี 2558-2559 ได้มีการบูรณะอีกครั้งเนื่องจากเกิดไฟไหม้ด้านหลังโต๊ะหมู่บูชา และแท่นธรรมมาสน์ที่พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา ต่อมาในปี 2560 ได้ทำการเปลี่ยนจากหลังคาที่ใช้กระเบื้องดินขอหรือกระเบื้องดินขอเปลี่ยนเป็นแผ่นเมทัลชีทจนถึงปัจจุบัน

ของดีประจำหมู่บ้านจำคาวตอง

ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจำคาวตอง

ชาวบ้านจำคาวตองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ  ทำนา ทำสวนใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีต่างๆ ในการทำการเกษตร ทำให้มีต้นทุนที่สูง ประสบปัญหามีหนี้สินเพิ่ม รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และปัญหาสุขภาพเกษตรกรมีการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น จนถึง พ.ศ. 2559 ผู้นำหมู่บ้าน พัฒนาชุมชน (พช.) ชาวบ้าน ประชุมประชาคม ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และสรุป ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร. 9 มาปรับใช้เพื่อลดปัญหาหนี้สิน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ลดการพึ่งพาสารเคมี หันมาปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงดี และพึ่งพาตนเองได้ หมู่บ้านยังมีจุดศึกษาดูงานประจำหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของ คำขวัญของหมู่บ้าน “ แหล่งเรียนรู้หลากหลาย ห่างไกลอบายมุข สุขภาพสมบูรณ์ เกื้อกูลคุณธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง”

ในหมู่บ้านมีการส่งเสริมการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือน โดยใช้เทคนิค 3 ก้าวในการขับเคลื่อนและต่อยอด สืบทอด คือ ก้าวที่ 1 ผู้นำทำก่อน ก้าวที่ 2 ผู้นำจับคู่กับครัวเรือน 1:5

ก้าวที่ 3 ประกวดคุ้มหมวด ทำใน 4 อย่างดังนี้ 1.ลดรายจ่าย 1 ครัวเรือน 1 แปลงผัก 2.ออมทรัพย์ทุกครัวเรือนไผ่แตกกอหน่อออมทรัพย์ 3.กำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง 1 ครัวเรือน 1 เสวียน 1 แหล่งโปรตีน(เลี้ยงสัตว์) 4.ดูแลกันในกลุ่มไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

หมู่ที่ 3 บ้านสันผักเฮือด

Moo.3 , Ban San Phak Hueat

บริบทชุมชน

บ้านสันผักเฮือด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ดังนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอพาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย จึงได้มอบงบประมาณให้สำหรับปุ๋ย พันธุ์ข้าว และยกให้เป็นหมู่บ้านนำร่องขยายพันธุ์ข้าว ด้านองค์การบริหารส่วนตำบลดอยงาม ได้ช่วยส่งเสริมนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรให้เกษตรกรได้ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมด้านความสามัคคีภายในชุมชน ชาวบ้านสันผักเฮือดมีกลุ่มสัมมาอาชีพที่โดดเด่นหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มนาโยน กลุ่มเกษตรกรสวนพริก กลุ่มสัมมาชีพ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา เป็นต้น

 

กลุ่มอาชีพกลุ่มผู้เลี้ยงเป็ด ได้รับการอบรม และสลับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชน เริ่มจากการให้แม่พันธ์ุเป็ดมาคนละ 5 ตัว เป็นเป็ดเทศพันธุ์เนื้อ โดยได้ส่งออกให้กับประเทศลาว และประเทศเวียดนาม

Moo.3

กลุ่มอาชีพเลี้ยงเป็ดเทศกลุ่มนี้เริ่มต้นโดยมีสมาชิกร่วมด้วยทั้งสิ้น 20 ครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันเป็ดเทศราคาถูกลงชาวบ้านจึงเลิกเลี้ยง เลยเอามาเพิ่มให้กลุ่มสมาชิกที่เหลือแบ่งกันเลี้ยงอีกคนละ 5 ตัว เพื่อขยายพันธุ์โดยที่ไม่ได้ซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธ์ุ เมื่อเป็ดโตเต็มที่แล้วจะมีพ่อค้าคนกลางส่งขายต่อให้กับพ่อค้าที่ สปป.ลาว ตลาดในอำเภอเวียงแก่น ช่วงที่จะขายดีคือช่วงเทศกาลสงกรานต์เพราะประเทศลาวชอบกินเป็ด

จากการที่มีงบประมาณส่วนหนึ่งเหลือมาจากกลุ่มเลี้ยงเป็นเทศ จึงได้นำมาต่อยอดเป็นกลุ่มทำข้าวแต๋น มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้แม่บ้าน คนว่างงาน ช่วยกันทำข้าวแต๋นเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งแต่ก่อนทางชุมชนเคยทำข้าวแต๋นขายตามตลาดนัด และตลาดตอนเย็น ได้รับความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อพบโชค ให้เอาไปวางขายที่วัดห้วยปลากั้งจึงทำให้รายได้มีมากขึ้น

ของดีประจำหมู่บ้านสันผักเฮือด

ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นพบโชค

ข้าวแต๋นพบโชค ได้สูตรมาจากภูมิปัญญา ของชาวบ้านสันผักเฮือด เนื่องจากภายในหมู่บ้านราษฎรส่วนมาก ประกอบอาชีพเกษตรกรและชาวนา และได้เล็งเห็นคุณค่าของผลผลิตที่มีอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรและชาวนา จึงได้รวมกลุ่มกันทำข้าวแต๋น ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวที่เป็นผลผลิตจากการประกอบอาชีพ ซึ่งความเป็นมาของชื่อ ข้าวแต๋นพบโชค นั้นมาจากการที่หลวงพ่อพบโชค ได้ให้การสนับสนุนอนุญาตให้ใช้ชื่อของท่าน เป็นชื่อผลิตภัณฑ์

 

มีการผลิตและจัดจำหน่ายภายในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง และมีวางจำหน่ายที่วัดห้วยปลากั้ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้สนับสนุนให้ความรู้เพิ่มเติม เรื่อง บรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ ข้าวแต๋นพบโชค ให้เป็นที่น่าจดจำของผู้คน

ของดีประจำหมู่บ้านสันผักเฮือด

สมุนไพรรักษานิ่ว

สืบเนื่องมาจาก แม่อุ้ยแสง จินารินทร์ ท่านได้ล้มป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี และท่านได้ทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้พบเจอกับหมอสมุนไพรท่านหนึ่ง ท่านได้บอกสูตรยาสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ช่วยรักษาโรคนิ่ว หลังจากที่แม่อุ้ยแสง ได้สูตรการทำสมุนไพรแล้วจึงนำสมุนไพรแต่ละชนิดที่ขึ้นอยู่ตามหมู่บ้านมาต้มรวมกันและดื่มเพื่อรักษา จนถึงครบกำหนดเวลาที่ต้องไปพบหมอตามนัด ซึ่งมีผลการเอ็กซเรย์ออกมาว่าไม่พบนิ่วในถุงน้ำดี

นางสมนึก ชัยชะนาญ ได้รับสืบทอดสูตรยาสมุนไพรรักษานิ่ว และมีการเผยแพร่สูตรยาให้กับผู้ที่มีความสนใจ และสืบทอดคงไว้ให้ลูกหลานทำเป็นอาชีพเสริม และเพื่อสืบทอดให้เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านสืบไป

หมู่ที่ 4 บ้านสันหนองควาย

Moo.4 , Ban San Nong Khwai

บริบทชุมชน

บ้านสันหนองควายในช่วงประมาณปี พ.ศ.2469 มีชาวลำพูนประมาณ 7 ครอบครัว อพยพเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้เข้ามาพบสันดอนที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงควาย จึงเป็นที่มาของการตั้งหมู่บ้านขึ้นชื่อว่า หมู่บ้านหนองควายหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ได้มี การปรับปรุงพื้นที่เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา และเป็นแอ่งน้ำแก้มลิง โดยปัจจุบันบ้านสันหนองควายได้แยกออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ บ้านสันโค้ง และบ้านแม่หนาด พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา แต่ปัญหาหลักของหมู่บ้านคือการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ทางตอนปลายของเส้นทางชลประทาน

Moo.4

นายดิเรก วันมี (ผู้อํานวยการกองการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตําบลดอยงาม)

ประชากรที่ย้ายมาจากจังหวัดลําพูน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยอง ประเพณีวัฒนธรรมจะมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของชุมชน องค์การบริหารส่วนตําบล และองค์การส่งเสริมวัฒนธรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นในทุก ๆ ด้าน เช่นทางประเพณีวัฒนธรรมของตําบลดอยงามทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน หรือแม้กระทั่งประเพณีวัฒนธรรมประเทศก็มีการประยุกต์ปรับปรุงใช้ใน ชุมชน ในทุก ๆ ปี ก็จะมีการทําแผนส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมประเพณี ตามฤดูกาลในทุก ๆ เดือน และมีคณะกรรมการวัฒนธรรมตําบลดอยงามที่ เป็นตัวขับเคลื่อนส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมซึ่งคณะกรรมการมาจากตัวแทน ของ 14 หมู่บ้านมารวมกันซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะไม่เหมือนกันเนื่องจากการอพยพถิ่นฐาน ชีวิตความเป็นอยู่จะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของหมู่บ้าน เช่น การจัดงานสลากภัตร ก็จะมีการพูดคุย ตกลง วางแผนในการจัดกิจกรรม ต่าง ๆ ร่วมกันกับคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการระดับตําบล ในการส่งเสริมวัฒนธรรม จะมีการเชิญเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัด อําเภอ มาจัดการอบรม ส่งเสริม เก็บข้อมูล มารวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น รวบรวมประเพณีวัฒนธรรม ทั้ง 12 เดือน ซึ่งจะมีการทําไว้ให้มีรูปแบบที่ชัดเจนแล้วยังมีการวางแผนไปในอนาคต เพื่อวางแผนจะมีการสนับสนุนงบประมาณจากท้องถิ่น ซึ่งจะได้รับ การจัดสรรทุกปีเพื่อจะส่งเสริมวัฒนธรรมของหมู่บ้านให้คงอยู่และมีการสืบทอดต่อไป

ของดีประจำหมู่บ้านสันหนองควาย

เคราฤาษีหรือมอสสเปน

เคราฤาษีหรือมอสสเปน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์สับปะรดที่ไม่มีราก ใช้เป็นวัสดุปลูกในงานแต่งสวน มีการนำเข้ามาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2443 ใช้เป็นวัสดุยัดเบาะนั่งในรถยนต์ เพราะมีคุณสมบัติไม่ติดไฟ และทางหมู่บ้านได้มีผู้ริเริ่มเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายมาเป็นเวลา 10 ปี 

นอกจากนี้ยังมีการขยายในครัวเรือน และขยายตลาดทุกช่องทาง และมีชาวบ้านให้ความสนใจเพาะปลูกพืชชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 15 ครัวเรือน และยังขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ว่าง เป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี

ของดีประจำหมู่บ้านสันหนองควาย

เสื้อบ้าน,เสื้อวัด

เสื้อบ้าน,เสื้อวัด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เชื่อกันว่าสิงสถิตอยู่ในต้นไม้ลุงขนาดใหญ่ ที่คอยปกป้องหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งต่อมาได้มีการจัดสร้างวัดหนองควายในปี พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 24 มกราคม 2506 ก่อนหน้านั้นได้ประดิษฐาน เสื้อบ้าน,เสื้อวัด ไว้ในบริเวณวัดหนองควาย ต่อมาได้อันเชิญมาสร้างประดิษฐานไว้บริเวณนอกวัดให้เคียงคู่กับข่วงสะหลี ลานโพธิ์ ตราบจนถึงปัจจุบัน

เสื้อบ้าน,เสื้อวัด เป็นขวัญกำลังใจ ในการกราบไหว้ขอพรต่างๆ และถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

ของดีประจำหมู่บ้านสันหนองควาย

หมอสมุนไพร

สมุนไพรไทยดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พ่ออุ้ยอ้าย แสนขัติ มาจากจังหวัดลำปาง เป็นเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้รักษาชาวบ้านกันมาตลอด สมุนไพรดังกล่าว อาทิ เช่น 1.ฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ ทำออกมาเป็นแคปซูล 2.เพชรสังฆาต แก้โรคพยาธิ,ริดสีดวงทวาร 3.สี่สหาย(ประกอบด้วย ขมิ้น ปูเลย ขิง กระชาย) แก้โรคลม ท้องอืด ท้องเพ้อ 4.ยาประคบ ส่วนผสม ใบมะขาม ใบส้มป่อย เปลือกมะกรูด ขมิ้นชัน ปูเลย ตะไคร้ การบูร รักษาเส้นเอ็น กระดูดไขข้อพับ

หมู่บ้านในปี พ.ศ.2560 เพื่อต่อยอดสูตรยาสมุนไพร และยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน ได้ปลูกพืชสมุนไพรไว้ผลิตใช้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของสมุนไพรไทย ซื้อใช้แล้วมีประสิทธิผล สามารถรักษาโรคได้จริง

bottom of page